‘Resilience’ คืออะไร? ทักษะล้มแล้วลุกให้เร็วที่หลายคนควรมี

‘Resilience’ คืออะไร? ทักษะล้มแล้วลุกให้เร็วที่หลายคนควรมี
เพื่อน ๆ เคยได้ยินคำว่า ‘Resilience’ กันไหมคะ? เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยมากในโลกปัจจุบัน ว่ากันว่ามันเป็นทักษะที่หลายองค์กรนำมาปรับใช้เพื่อแข่งขันในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันและต้องการให้พนักงานของตัวเองมีทักษะที่ “ล้มแล้วลุก” อย่างรวดเร็วเมื่อต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งทักษะดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้แค่ในองค์กรเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในยามประสบปัญหา ยกตัวอย่างเช่นในการแข่งขันกีฬา ที่นักกีฬาทุกคนต่างก็ต้องเคยเป็นผู้แพ้มาก่อน แต่ถ้าหากหมั่นฝึกซ้อมและแก้ไขจุดอ่อนของตัวเองได้ ผู้แพ้ก็จะสามารถกลับมาเป็นผู้ชนะ นั่นคือทักษะในการล้มแล้วรีบลุกให้เร็ว ซึ่งเราจะนำมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังกันในวันนี้
.

ความหมายของคำว่า 'Resilience' 

ก่อนอื่นเรามารู้จักกับคำว่า ‘Resilience’ กันก่อน คำนี้มีหน้าที่เป็น Noun ถ้าจะให้แปลเป็นภาษาไทยแบบตรงตัวเลยก็คือ “ความยืดหยุ่น” ซึ่งนั่นอาจจะทำให้มองไม่เห็นภาพสักเท่าไร เพราะถ้าแปลกันตรง ๆ แบบนี้หลายคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าคนที่มีคุณสมบัติ Resilience คือคนที่มีร่างกายยืดหยุ่นแบบนักยิมนาสติกก็เป็นได้ ซึ่งคำว่า Resilience นั้น ถ้านิยามตาม Oxford dictionary ก็คือ “the ability of people or things to recover quickly after something unpleasant, such as shock, injury, etc.” หรือ “ความสามารถของคนหรือสิ่งของในการฟื้นฟูกลับมาได้อย่างรวดเร็วหลังจากประสบปัญหาบางอย่าง” ถ้าจะให้นิยามสั้น ๆ ก็คือ “ทักษะในการล้มแล้วลุกอย่างรวดเร็ว” คำนี้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายธุรกิจต่างเจอกับปัญหาที่ไม่คาดคิดและต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้องค์กรสามารถเดินต่อไปได้ อย่างเช่นร้านอาหาร ต้องหันมาเน้นเดลิเวอรีมากขึ้นเพื่อสร้างยอดขาย เป็นต้น
.

ตัวอย่าง Resilience ในตัวนักกีฬา

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นได้ว่ามีนักกีฬาหลายคน ที่เคยผิดหวังจากการแข่งขันในครั้งก่อน ๆ แต่พวกเขาก็ไม่เคยยอมแพ้ ลุกกลับมาฝึกซ้อมเพื่อเตรียมตัวการแข่งขันครั้งต่อไป เพื่อให้ประสบความสำเร็จดังใจหวัง ยกตัวอย่างเช่น ‘น้องเทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ แชมป์เหรียญทองเทควันโดโอลิมปิก 2020 ขวัญใจชาวไทย ที่เมื่อ 5 ปีก่อนเธอพลาดท่าแพ้ในรอบก่อนรองชนะเลิศในช่วงไม่กี่วินาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ถึงแม้สุดท้ายจะได้เหรียญทองแดงในโอลิมปิก 2016 แต่เธอไม่คิดจะหยุดอยู่แค่นั้น กลับมาคราวนี้เธอทะลุไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ น้องเทนนิสโดนคู่แข่งทำคะแนนนำอยู่ในขณะที่เวลาการแข่งขันเหลืออยู่ประมาณ 7 วินาทีสุดท้าย แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ ใช้เวลาที่เหลือเพียงไม่กี่วินาทีพลิกกลับมาชนะและคว้าเหรียญทองได้ดังที่ตั้งใจ แก้ตัวจากความผิดหวังเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้สำเร็จ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ทอม เดลีย์ (Tom Daley) นักกระโดดน้ำจากประเทศสหราชอาณาจักรที่เข้าร่วมโอลิมปิกมาตั้งแต่ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตอนนั้นเขาอายุแค่ 14 ปีเท่านั้น เขาคว้าเหรียญทองแดงจากกีฬากระโดดน้ำได้สองเหรียญในโอลิมปิกปี 2012 และ 2016 ตามลำดับ แต่ความตั้งใจสูงสุดของเขาที่หมายมั่นปั้นมือก็คือเหรียญทอง จนมาถึงโอลิมปิกครั้งนี้ในการแข่งขันกระโดดน้ำ ประเภทแพลตฟอร์มชายคู่ 10 เมตร เขาสามารถคว้าเหรียญทองได้สมใจปรารถนา ทำเอาเจ้าตัวหลั่งน้ำตาแห่งความสุขในพิธีมอบเหรียญเลยทีเดียว
.
โอลิมปิกเกมส์เป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬาที่รวบรวมนักกีฬาหลากหลายประเภทจากทั่วโลก ซึ่งนักกีฬาทุกคนต่างก็เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศตัวเองให้เข้าร่วมเป็นตัวแทนของประเทศชาติไปแข่งขันในเวทีโลก เมื่อมีผู้ชนะย่อมต้องมีผู้แพ้เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผู้ที่แพ้ในวันนี้อาจจะกลายเป็นผู้ชนะได้ในวันข้างหน้า ส่วนผู้ชนะเองก็ยังคงต้องฝึกซ้อมเพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันในครั้งถัดไป นั่นคือทักษะ resilience ที่เรานำมายกตัวอย่างให้ดูกันง่าย ๆ แต่ไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร นักกีฬาทุกคนต่างก็ชนะใจกองเชียร์ของประเทศตัวเองทั้งสิ้น
.

Resilience กับการเรียนภาษา

การเรียนภาษาก็เช่นกัน ผู้เรียนภาษาสามารถนำเอาทักษะ resilience มาใช้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง เป็นเรื่องธรรมชาติที่บางครั้งเวลาเราเริ่มเรียนภาษาใหม่ ๆ จะเกิดความคิดอยากล้มเลิก เพราะคิดว่ามันยากไป อายุมากจนเกินไปที่จะเรียน เพราะปลายทางที่จะไปสู่ความเป็นเลิศมันช่างยาวไกลเหลือเกิน แต่หากเรามองเป้าหมายทีละขั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหมั่นฝึกฝนการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลาดูไม่ท้อแท้ เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นเรียน คุณจะพบว่าทักษะภาษาของคุณนั้นมาไกลเกินกว่าที่คิดไว้ เช่นเดียวกับนักกีฬาสองท่านที่เรายกตัวอย่างไป

.

เพื่อน ๆ ได้เห็นกันแล้วใช่ไหมคะว่า Resilience หรือทักษะการล้มแล้วลุกให้เร็วสามารถนำไปปรับใช้ได้กับชีวิตประจำวันของเราทุกคน ซึ่ง Berlitz เป็นสถาบันสอนภาษาที่ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดเช่นเดียวกับหลาย ๆ ธุรกิจ ทำให้สถาบันสอนภาษา Berlitz ของเรา ในช่วงโควิดล็อกดาวน์ไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ แต่เราก็มีการสอนแบบ Live Online รองรับ ทำให้ผู้เรียนจะได้เรียนภาษากับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเจ้าของภาษาผ่านทางระบบออนไลน์จากที่บ้าน และสามารถเลือกเวลาเรียนที่สะดวกเองได้ ซึ่งนักเรียนของเราก็สามารถปรับตัวมาเรียนรูปแบบออนไลน์ได้ในทันที ทั้งปลอดภัยเพราะไม่ต้องเดินทางและสามารถพัฒนาทักษะภาษาได้แม้ในสถานการณ์ล็อกดาวน์
ที่มา: https://www.verywellmind.com/what-is-resilience-2795059
https://positivepsychology.com/what-is-resilience/