คำว่า ‘OK’ ย่อมาจากอะไร? และเริ่มใช้ครั้งแรกตอนไหน?
ถ้าจะให้นึกถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษสักคำที่ใช้บ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน คำว่า ‘OK’ คงเป็นคำแรกที่หลายคนนึกออก เพราะเป็นคำที่กระชับและมีน้ำหนักเป็นกลางที่สุดในการสื่อสารให้คู่สนทนาทราบว่าเราตกลง เห็นด้วยหรือยินยอม แต่มีใครพอจะทราบไหมว่า OK ย่อมาจากอะไร? และที่มาของคำสั้น ๆ แต่ใช้ได้ตลอดคำนี้เป็นมาอย่างไร? ถ้าใครยังไม่ทราบแล้วล่ะก็วันนี้เราจะมาเล่าถึงประวัติที่มาของคำนี้ให้ฟังกันเลย ‘โอเค’ ไหม?
'OK' ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1839
ถึงแม้จะมีหลากหลายทฤษฎีของที่มาคำว่า ‘OK’ แต่ที่มีหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นปรากฏขึ้นครั้งแรกบนบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ Boston Morning Post ในประเทศสหรัฐอเมริกาฉบับวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1839 ‘OK’ ถูกใช้เป็นมุกตลกของคำว่า All Correct ที่สะกดผิดเป็น Oll Korrect ทำให้มีคำย่อเป็น OK อย่างที่เราเห็นกัน นั่นเป็นครั้งแรกที่ชาวอเมริกันรู้จักคำว่า OK ในฐานะมุกตลกมุกหนึ่งบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในสังคม สาเหตุที่แท้จริงนั้นมีที่มาจากชายที่ชื่อว่า Martin Van Buren
ผู้ที่ทำให้คำว่า 'OK' เป็นที่รู้จัก
Martin Van Buren เป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเกิดที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อว่า Kinderhook รัฐนิวยอร์ค ทำให้หลายคนเรียกเขาว่า Old Kinderhook เป็นชื่อเล่น ต่อมากลุ่มผู้สนับสนุนของ Van Buren ได้จัดตั้งสมาคมที่มีชื่อว่า ‘OK Club’ ขึ้นมา ซึ่งย่อมาจากชื่อเล่น Old Kinderhook ของเขา นอกจากนี้ในการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองของ Van Buren คำว่า OK ถูกนำมาใช้ในการหาเสียงอีกด้วยโดยวลีที่ว่า “Vote for OK” ทำให้ยิ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นไปอีก จนปัจจุบันคำว่า OK ถูกใช้ทับศัพท์ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
ถึงแม้ OK จะถูกใช้อยู่บ่อยครั้งในชีวิตประจำวันเพราะง่ายต่อการสื่อสารของผู้ส่งสาร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะสามารถใช้ได้ในทุกเวลาแต่ขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์อีกด้วย อย่างเช่นบทความทางวิชาการหรือการแถลงการณ์ที่เป็นทางการมักจะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า OK กัน เพราะฉะนั้นการฝึกสนทนาในภาษาที่เรากำลังเรียนรู้จึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะการฝึกสนทนากับเจ้าของภาษาที่จะช่วยให้ผู้ฝึกเข้าใจการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามบริบทและสถานการณ์มากยิ่งขึ้น คอร์สเรียนภาษาสำหรับผู้ใหญ่ที่ Berlitz อาจารย์ผู้สอนซึ่งเป็นเจ้าของภาษานั้น ๆ จะใช้วิธีการสอนผ่านบทสนทนาที่นำเสนอคำศัพท์และไวยากรณ์ที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันด้วยวิธีแบบ Berlitz (Berlitz Method) ทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะได้ตรงตามเป้าหมายและนำไปใช้ได้จริงอย่างถูกต้องในระดับเดียวกับเจ้าของภาษา