พร้อมหรือยังสำหรับ ‘Hybrid Working’? เทรนด์การทำงานใหม่ยุค Next Normal
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังจะเข้าสู่ปีที่สาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาธุรกิจหลายภาคส่วนล้วนปรับตัวเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้บนข้อจำกัดอันท้าทาย การปรับตัวในช่วงแรกของการแพร่ระบาดที่หลายบริษัทเริ่มใช้ก็คือการอนุญาตให้พนักงาน work from home เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ด้วยความที่มาตรการดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เป็นระยะเวลานานตามสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทำให้พนักงานหลายคนเกิดความเคยชินในการทำงานนอกออฟฟิศ รวมทั้งบริษัทเองก็พึงพอใจถ้าตราบใดที่ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานไม่ต่างจากการเข้าออฟฟิศ รวมถึงช่วยลดเวลาบนท้องถนนแก่พนักงานและมลภาวะไปพร้อมกัน จนเกิดกระแสใหม่ของการทำงานที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในปี 2022 เรียกว่า ‘Hybrid Working’
อะไรคือ Hybrid Working?
Hybrid Working คือการทำงานที่พนักงานสามารถเลือกสถานที่ทำงานได้ตามเนื้องานแต่ละวันระหว่าง co-working space, คาเฟ่, บ้าน, หรือออฟฟิศของบริษัทแทนการทำงานที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก่อนยุคโควิด-19 ผลการสำรวจของ IWG (International Workplace Group) ระบุว่า 77% ของพนักงานต้องการสถานที่ทำงานที่ใกล้กับที่พักอาศัย เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ work-life balance
อันที่จริงแล้วการทำงานในลักษณะไฮบริดเริ่มถูกนำไปใช้ในหลายบริษัทมาก่อนหน้านี้แล้วโดยเฉพาะบริษัทสตาร์ทอัพ เพียงแต่การมาของโรคระบาดทำให้เทรนด์การทำงานดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในระดับธุรกิจสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานราชการบางหน่วยงานก็นำไปปรับใช้กับพนักงานของตนเอง
ข้อดีของ Hybrid Working คืออะไร?
-
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
จากการรายงานของ Business Insider ระบุว่าในปี 2019 คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาไปกับการเดินทางบนท้องถนนถึง 64 ชม./ต่อปีซึ่งก็เกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ทำให้หลายบริษัทในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักรและเยอรมันนอกจากจะมีสำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองแล้ว บางบริษัทได้ทำการเช่า co-working space ไว้ตามชานเมืองที่เป็นแหล่งที่พักอาศัย เพื่อให้พนักงานที่อาจจะไม่ชอบการทำงานที่บ้านแต่ก็ไม่อยากเสียเวลาเดินทางเข้าเมืองเป็นชั่วโมง บริษัทเหล่านี้ก็มีทางเลือกให้แก่พนักงานในการออกมาทำงานที่ออฟฟิศที่บริษัทเช่าไว้เพื่อใช้ในการประชุมกับทีมย่อย หรือนัดเจอลูกค้าที่อาศัยอยู่แถวนั้นเหมือนกัน ทำให้ประหยัดเวลาและพลังงานที่ต้องใช้ในการเดินทางมาใช้ในการทำงานคิดไอเดียใหม่ ๆ แทน
-
เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แน่นอนว่าการเดินทางบนท้องถนนที่ลดลงย่อมส่งผลโดยตรงต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึงแม้ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าจะเริ่มกระจายออกนอกเมืองมากขึ้น แต่ผู้คนก็ยังต้องเดินทางจากบ้านเพื่อมาใช้ระบบขนส่งมวลชนนี้อยู่ดี เพราะสถานีรถไฟก็ยังอยู่ไกลจากตัวบ้าน การลดวันเข้าออฟฟิศลง ทำให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้หากไม่มีเหตุจำเป็น
-
ลดข้อจำกัดการคัดเลือกพนักงาน
ดังที่เราได้กล่าวไว้ว่า 77% ของพนักงานกำลังมองหาสถานที่ทำงานใกล้บ้าน นั่นทำให้บริษัทหลายแห่งเสียโอกาสในการรับพนักงานที่มีพรสวรรค์เข้าทำงานเพราะอุปสรรคเรื่องการเดินทาง แต่ด้วยการทำงานแบบ Hybrid Working พนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน ทำให้ลดอุปสรรคในเรื่องระยะทางลงไปได้
-
ส่งเสริมธุรกิจบริเวณใกล้เคียง
ด้วยความที่คนเริ่มนิยมทำงานใกล้บ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจหลายแห่งได้รับโอกาสมากขึ้น ทั้งคาเฟ่และ co-working space ที่สร้างให้เหมาะกับการเป็นออฟฟิศสมมุติ ร้านอาหารท้องถิ่นก็สามารถเพิ่มยอดขายด้วยจำนวนประชากรระหว่างวันที่มากขึ้นหรือ food delivery ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เหล่า rider ได้ทำยอดมากขึ้น
แน่นอนว่า Hybrid Working ได้มอบความยืดหยุ่นและความสะดวกสบายแก่พนักงาน ในขณะเดียวกันก็ส่งผลดีต่อธุรกิจตามเขตชานเมืองและช่วยลดปัญหามลภาวะจากการเดินทางได้ระดับหนึ่ง ซึ่งตอบโจทย์คนกลุ่ม gen-Y และ gen-Z ที่นิยมไลฟ์สไตล์แบบ work-life balance และเป็นกลุ่มคนที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกองค์กรที่สามารถประสบความสำเร็จในการนำวิธีการนี้ไปใช้ ยังมีความท้าทายหลายอย่างที่ต้องก้าวข้าม
อะไรคือคือความท้าทายของ Hybrid Working
-
ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน
การไม่ได้เข้าออฟฟิศย่อมพบเจอผู้คนน้อยลง นี่อาจส่งปัญหาแก่คนที่มีลักษณะ extrovert ที่จะมีอุปนิสัยเข้าหาผู้คนง่ายและชอบเข้าสังคมมากกว่า introvert ที่ไม่ชอบรายล้อมไปด้วยผู้คนมากมาย ทาง IWG ได้เสนอว่าก่อนเริ่มการประชุมออนไลน์ให้เริ่มบทสนทนาที่ไม่เกี่ยวกับเนื้องาน โดยใช้เวลาพูดคุยเรื่องสัมเพเหระเป็นเวลา 10 นาทีก็ช่วยกระชับสัมพันธ์ภายในทีมได้
-
ความเหนื่อยล้าจากการประชุมออนไลน์ หรือ ‘Zoom Fatigue’
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกงานที่เหมาะกับการประชุมออนไลน์ โดยเฉพาะการประชุมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากยิ่งต้องใช้สมาธิจดจ่อกับเนื้อหาการประชุมมากขึ้น หรือบางครั้งก็มีปัญหาการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทำให้การประชุมขาดตอน สำนักข่าว BBC รายงานว่าการประชุมออนไลน์สร้างความเหนื่อยล้าแก่ผู้เข้าร่วมประชุม เพราะนอกจากต้องฟังบทสนทนาผ่านวิดีโอคอลแล้วยังต้องตีความผ่านอารมณ์และท่าทางของคู่บทสนทนามากขึ้นอีกด้วย หรือบางทีไม่ได้เปิดกล้องในการประชุม ยิ่งต้องทีสมาธิกับน้ำเสียงและเนื้อหามากขึ้นไปอีก ปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม โดยวิธีการแก้ปัญหาคืออาจจะใส่สไลด์เพื่อใช้ประกอบการประชุมทำให้เห็นภาพมากขึ้น หรือลดการประชุมผ่านวิดีโอคอลให้น้อยลงตามความจำเป็น
-
ปัญหาสุขภาพ
เชื่อว่าหลายคนน่าจะประสบกับปัญหานี้ในระหว่าง work from home เพราะการทำงานที่บ้านอาจจะทำให้เราละเลยเรื่องสุขภาพกันอยู่บ้าง เพราะเวลาเราเดินทางไปที่ออฟฟิศ บางคนเดินเท้าจากสถานีรถไฟไปที่ทำงาน หรือเดินออกไปรับประทานอาหารกลางวันข้างนอกบริเวณที่ทำงาน ทำให้ร่างกายได้เผาผลาญไปในตัว แต่เมื่อทำงานที่บ้านก็เดินน้อยลงรวมถึงอาหารการกินที่อาจจะมีตัวเลือกไม่มากนัก ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพแบบไม่รู้ตัว
บริษัทระดับโลกไหนบ้างที่หันมาใช้ Hybrid Working
ก่อนจะตัดสินใจว่าบริษัทของคุณพร้อมหรือยังสำหรับการทำงานแบบไฮบริด มาดูกันก่อนว่าบริษัทระดับโลกไหนบ้างที่เริ่มนำร่องให้พนักงานสามารถตัดสินใจเลือกที่ทำงานได้เองแล้ว
- Microsoft ได้ทำการสำรวจความต้องการภายในบริษัทและพบว่าพนักงานบางตำแหน่งมีความจำเป็นต้องเข้ามาทำงานที่บริษัท แต่ในขณะเดียวกันพนักงานบางตำแหน่งที่ดูแลเรื่องธุรกิจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าหากได้ทำงานที่บ้าน
- Spotify – บริษัทที่ให้บริการสตรีมเพลงสัญชาติสวีเดนเพิ่งประกาศนำนโยบายนี้มาใช้กับพนักงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ที่ผ่านมานี้เอง โดยการตัดสินใจว่าจะทำงานที่บ้านหรืออฟฟิศนั้นต้องได้รับความเห็นร่วมกันระหว่างหัวหน้าและพนักงาน
- British Airways – สายการบินประจำชาติของประเทศสหราชอาณาจักรได้ประกาศให้พนักงานเริ่มทำงานแบบ Hybrid Working ได้ในบางตำแหน่ง (แน่นอนว่าต้องไม่ใช่นักบินและลูกเรือ) โดยพวกเขาถึงขนาดที่ว่าจะลดขนาดของสำนักงานใหญ่ลงเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายนี้
จาก Hybrid Working เป็น Hybrid Learning
โมเดลการทำงานแบบไฮบริดนอกจากจะนำมาใช้ในการทำงานแล้ว ยังสามารถนำมาปรับใช้ในการศึกษาได้อีกด้วย แต่ก่อนการเรียนภาษาอาจจะต้องเข้ามาเรียนที่สถาบันสอนภาษาอย่างเดียว เพราะด้วยเทคโนโลยีที่จำกัด ทำให้การเข้าถึงเนื้อหาอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับการเรียนในห้องเรียน
แต่ด้วยความก้าวหน้าของนวัตกรรมและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สถาบันสอนภาษา Berlitz จึงได้นำวิธีการเรียนภาษาแบบ Hybrid Learning โดยผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนในห้องเรียนหรือเรียนแบบออนไลน์สด หรือจะสลับการเรียนทั้งสองแบบในคอร์สเดียวกันก็ได้ โดยการเรียนแบบออนไลน์สด ผู้เรียนสามารถสนทนากับอาจารย์เจ้าของภาษาได้จากทุกที่โดยไม่ต้องเดินทางมาเรียนที่ห้องเรียนของเรา เพราะเราได้นำนวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้เข้ากับหลักสูตรแบบเฉพาะของ Berlitz ที่มีอายุมากกว่า 140 ปี การผนวกเข้าด้วยกันระหว่างเทคโนโลยีที่ทันสมัยและกระบวนการสอนแบบดั้งเดิมจะช่วยให้คุณเปิดประสบการณ์การเรียนภาษาแบบใหม่ และคุณจะแปลกใจว่าทักษะภาษาของคุณได้รับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดโดยที่คุณไม่เสียเวลาเดินทางเลยแม้แต่น้อย สมัครเรียนภาษากับ Berlitz วันนี้ลดทันที 10% ทุกคอร์ส! ทุกภาษา! สามารถติดต่อเราหรือกรอกรายละเอียดลงในแบบฟอร์มด้านล่างเพื่อให้เราติดต่อกลับได้เลย
https://buildremote.co/hybrid-work/hybrid-work-companies-list/
https://www.businessinsider.com/worst-commutes-in-world-inrix-2018-2019-1#according-to-inrix-drivers-in-bangkok-spend-an-average-of-64-hours-a-year-stuck-in-traffic-31