'Mose' ระบบป้องกันน้ำท่วมเรื้อรังของเมืองเวนิส

'Mose' ระบบป้องกันน้ำท่วมเรื้อรังของเมืองเวนิส

โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยตอนนี้นอกจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 แล้วในหลายจังหวัดยังประสบกับอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลาก ถึงแม้บางจังหวัดสถานการณ์จะคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ยังมีถึง 18 จังหวัดที่ยังได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ‘น้ำท่วมปี 64’ นี้ 

สาเหตุหลักของน้ำท่วมครั้งนี้มาจากพายุโซนร้อน ‘เตี้ยนหมู่’ เคลื่อนตัวจากประเทศเวียดนามเข้ามายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 ทำให้หลายพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน ภาคตะวันออกและภาคกลาง ด้วยปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำหลายสายมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ แต่หลายประเทศในยุโรปอย่างเยอรมันลักเซมเบิร์กและเนเธอร์แลนด์ที่ได้ชื่อว่ามีระบบจัดการน้ำดีที่สุดในโลกก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน หรืออย่างเมืองเวนิส เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของอิตาลีเองก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ 1 เมตร ประกอบกับสภาวะโลกร้อน ทำให้เมืองเวนิสต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองมรดกโลกที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต้องจมอยู่ใต้น้ำ พวกเขาได้มีโครงการสร้างระบบป้องกันน้ำไว้อย่างไร วันนี้ Berlitz จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

เพื่อน ๆ หลายคนอาจเคยเห็นภาพนักท่องเที่ยวเดินลุยน้ำกลางจตุรัสซานมาร์โค (Piazza San Marco) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์คสำคัญของเมืองเวนิส สถานการณ์น้ำท่วมเช่นนี้เกิดขึ้นเกือบทุกปีเรียกว่า ‘Acqua Altra’ เมื่อเกิดน้ำท่วมรัฐจะวางทางเดินที่ยกขึ้นสูงเป็นพิเศษมาตั้งไว้เพื่อให้คนสัญจรไปมาได้ แต่เมื่อปี 2562 เมืองเวนิสต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 50 ปี โดยระดับน้ำสูงสุดเกือบ 2 เมตรเลยทีเดียว ทำให้ทางเดินยกระดับที่ปกติจะนำมาใช้นั้นคงสูงไม่เพียงพอให้คนเดิน ทางเมืองเวนิสจึงต้องหาระบบป้องกันที่เร่งด่วนไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก นั่นก็คือโครงการทุ่นป้องกันน้ำท่วม ‘Mose’ หรือ ‘โมเซ่’ เพื่อให้คล้ายกับชื่อ ‘โมเสส ผู้นำชาวอิสราเอลที่มีตำนานเล่าว่าเขาพาชาวอิสราเอลเดินแหวกน้ำเพื่อข้ามทะเลแดง 

โครงการ Mose ย่อมาจาก ‘Modulo Sperimentale Elettromeccanico’ หรือ ‘Experimental Electromechanical Module’ เป็นโครงการที่ถูกริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ตัวโครงการถูกชะลอการก่อสร้างเรื่อยมาเนื่องด้วยปัญหาทางด้านเทคนิค ประสิทธิภาพในการใช้งาน  และปัญหาคอรัปชั่น ทำให้โครงการเสร็จล่าช้าไปมาก แต่เนื่องด้วยสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงเมื่อสองปีก่อน ทำให้ตัวโครงการ Mose ได้รับการพิจารณาให้เป็นโครงการเร่งด่วน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและถูกใช้งานอย่างเต็มรูปแบบภายในปีนี้ 

ระบบการทำงานของโครงการ Mose นั้นไม่ซับซ้อนอะไรมาก เมื่อระดับน้ำทะเลยกสูงขึ้น ตัวทุ่นสีเหลืองที่นอนราบอยู่ใต้น้ำจะยกตัวสูงขึ้นกลายเป็นกำแพงกั้นน้ำในทันที เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ได้มีการทดสอบครั้งใหญ่สำหรับการทำงานของกำแพงกั้นน้ำนี้ ผลปรากฎว่าระดับน้ำทะเลนอกกำแพงนั้นสูงถึง 132 เซนติเมตร ในขณะที่ระดับน้ำในกำแพง Mose สูงเพียง 72 เซนติเมตรเท่านั้น การทดสอบนี้สร้างความยินดีให้กับชาวเมืองเวนิสที่ต้องยกของขึ้นที่สูงเพื่อหนีน้ำท่วมทุกปี พวกเขาหวังว่าโครงการนี้จะถูกใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในเร็ววัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามเนื่องด้วย Mose ถูกออกแบบมาตั้งแต่ปี 2527 ทำให้การคำนวณระดับน้ำในขณะนั้นไม่ได้มีปัจจัยเรื่องสภาวะโลกร้อนเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับระบบการจัดการน้ำนี้ 

ประเทศที่มีสภาพภูมิประเทศบางพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอย่างเนเธอร์แลนด์ก็มีระบบการจัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลกชื่อว่า ‘Delta Works’ เเต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาประเทศเนเธอร์แลนด์กลับเจอกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ทางตอนใต้ของประเทศ ทำให้ประชาชนต้องพากันอพยพหนีน้ำท่วมครั้งแรกในรอบหลายปี นั่นทำให้เราเห็นว่าถึงแม้มนุษย์จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติให้ได้ดีที่สุด แต่สภาวะโลกร้อนก็รุนแรงมากขึ้นเช่นกัน Berlitz ขอส่งกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ ให้ฟันฝ่าอุปสรรคได้โดยเร็ว 

ที่มา: https://edition.cnn.com/travel/article/venice-flood-barrier/index.html