24 ตุลาคม - วันสหประชาชาติ (United Nations Day)

วันสหประชาชาติคือวันอะไร? เราในฐานะของประชากรโลกจะร่วมมีบทบาทอย่างไร?

เป็นเวลากว่า 76 ปีแล้วนับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น (United Nations: UN) ได้ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับมนุษย์ ก็เกือบเท่ากับอายุขัยของคน ๆ หนึ่งเลยทีเดียว เพียงแต่บทบาทและหน้าที่ของยูเอ็นนั้นเดินทางสวนทางกับร่างกายสิ่งมีชีวิตที่มีอายุมากขึ้น ถึงแม้จะเข้าสู่ปีที่ 76 แต่วัตถุประสงค์ที่จะนำสันติภาพมาสู่โลกของยูเอ็นกลับไม่เคยเสื่อมคลาย วันนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองแด่วันสหประชาชาติ Berlitz จะขออาสาเล่าเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับยูเอ็นให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกันค่ะ 

ก่อนหน้าที่ UN จะถูกจัดตั้ง โลกเราเคยมีองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อธำรงรักษาสันติภาพให้แก่โลกเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เรียกว่า ‘องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)’ แต่เพราะการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้องค์การดังกล่าวถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐอเมริกาและวินสตัน เชอร์ชิลล์ (winston churchill) นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร จึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นทดแทนองค์การสันนิบาตชาติที่ไม่มีกองกำลังทหารและอำนาจในการยับยั้งข้อพิพาทระหว่างประเทศ 

วันสหประชาชาติถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่กฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) มีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ.1945 โดยมีภารกิจตั้งอยู่บน 3 เสาหลักคือ 

  1. ด้านสิทธิมนุษยชน 
  2. ด้านสันติภาพและความมั่นคง 
  3. การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ 

ประเทศสมาชิกเริ่มต้นที่ร่วมลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติมีทั้งหมด 51 ประเทศ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ประเทศไทยเราเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 55 เมื่อปี ค.ศ.1946 สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบันคือ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส ชาวโปรตุเกส 

องค์กรหลักของสหประชาชาติประกอบด้วย 6 องค์กร ได้แก่ 

  1. สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) 
  2. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 
  3. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council) 
  4. คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) 
  5. สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ (The Secretariat) 
  6. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) 

ส่วนภาษาที่ถูกกำหนดให้ใช้อย่างเป็นทางการในองค์การสหประชาชาติมีอยู่ด้วยกันถึง 6 ภาษาคือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, รัสเซีย, จีน, และอาหรับ โดยภาษาอาหรับเป็นภาษาล่าสุดที่ถูกบรรจุให้เป็นภาษาทางการเมื่อปี ค.ศ.1973  

สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่มีความฝันอยากทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่าการเรียนภาษาที่สามนั้นมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ก็มีภาษาอื่น ๆ ที่ถูกใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งผู้ที่มีความสามารถด้านภาษาที่หลากหลาย จะมีความได้เปรียบในการทำงาน เพราะฉะนั้นการเรียนภาษา โดยเฉพาะการฝึกสนทนากับเจ้าของภาษาที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจการใช้ภาษาและวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้องตามบริบทรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การเรียนภาษาที่ Berlitz อาจารย์เจ้าของภาษาจะใช้วิธีการสอนผ่านบทสนทนาที่นำเสนอคำศัพท์และไวยากรณ์ที่ใช้ได้จริงด้วยวิธีเฉพาะแบบ Berlitz (Berlitz Method) ทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย เพื่อน ๆ สามารถค้นหาคอร์สเรียนภาษาที่ Berlitz มีให้บริการด้านล่างได้เลยค่ะ